การกำหนดมาตรฐานคุณภาพของครูในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ครูจะต้องทำกิจกรรม 7 อย่างคือ 1) การวิเคราะห์หลักสูตร 2) การวิเคราะห์ผู้เรียน 3) การจัดกิจกรรมที่หลากหลาย 4) การใช้เทคโนโลยีเป็นแหล่งและสื่อการเรียนรู้ของตนเองและนักเรียน 5) การวัดและประเมินผลตามสภาพจริงอย่างรอบด้านและเน้นพัฒนาการ 6) การใช้ผลการประเมินเพื่อแก้ไขปรับปีรุงและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนเพื่อ พัฒนาผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ 7) การใช้การวิจัยปฏิบัติการในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนและ การสอนของตน
จากประเด็นดังกล่าว นักศึกษาจะนำวิธีดังกล่าวมาจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร เมื่อนักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติการเรียนการสอนให้แก่ผู้เรียนโดยเน้นผู้เรียน เป็นสำคัญ (ข้อสอบ 20 คะแนน) ยกตัวอย่างออกแบบการจัดการเรียนรู้
จากประเด็นดังกล่าว ข้าพเจ้าคิดว่าจะนำวิธีรูปแบบการเรียนการสอนโดยการซักค้าน(jurisprudential model) ทฤษฎี/หลักการ/แนวคิดของรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หมายถึง การจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้เรียนรู้เกี่ยวกับการตัดสินใจอย่างชาญฉลาดในประเด็นปัญหาขัดแย้งต่างๆซึ่งมีส่วนเกี่ยวพันกับเรื่องค่านิยมที่แตกต่างกันปัญหาดังกล่าวอาจเป็นปัญหาทางสังคม หรือปัญหาส่วนตัว ที่ยากแก่การตัดสินใจ การตัดสินใจอย่างชาญฉลาดผู้เรียนควรได้รับการฝึกฝนให้รู้จักวิเคราะห์ปัญหา แยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น วิเคราะห์หาค่านิยมที่อยู่เบื้องหลังปัญหา ประมวลข้อมูลและแสดงจุดยืนของตนได้ ผู้สอนสามารถใช้กระบวนการซักค้านเป็นกระบวนการที่ใช้กันในศาล มาทดสอบผู้เรียนว่าจุดยืนที่ตนแสดงนั้นเป็นจุดยืนที่แท้จริงใช้คำถามซักค้านที่ช่วยให้ผู้เรียนคิดย้อนกลับไปพิจารณาความคิดเห็นอันเป็นจุดยืนของตน
วัตถุประสงค์ของรูปแบบ
รูปแบบนี้เหมาะสำหรับการสอนสาระที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาขัดแย้งต่างๆการสอนตามรูปแบบนี้จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการในการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด
กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ
ขั้นที่ 1 นำเสนอกรณีปัญหา
ประเด็นปัญหาที่นำเสนอควรเป็นประเด็นที่มีทางออกให้คิดได้หลายคำตอบ ควรเป็นประโยคที่มีคำว่า “ควรจะ…” เช่น ควรมีกฎหมายให้มีการทำแท้งได้อย่างเสรีหรือไม่?
วิธีการนำเสนออาจกระทำได้หลายวิธี เช่น การอ่านเรื่องให้ฟัง การให้ดูภาพยนตร์ การเล่าประวัติความเป็นมา ครูต้องระลึกเสมอว่าการนำเสนอปัญหานั้น ต้องทำให้นักเรียนได้รู้ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับปัญหา รู้ว่าใครทำอะไร เมื่อใด เพราะเหตุใดและวิเคราะห์ค่านิยมที่เกี่ยวข้องกัน
ขั้นที่ 2 ให้ผู้เรียนแสดงจุดยืนของตนเอง
ผู้เรียนเลือกจุดยืนของตนเองว่าจะเข้ากับฝ่ายใดและบอกเหตุผลของการเลือกนั้น
ขั้นที่ 3 ผู้สอนซักค้านจุดยืนของผู้เรียน
ผู้สอนใช้คำถามที่มีลักษณะดังตัวอย่างต่อไปนี้
3.1 ถ้ามีจุดยืนอื่นๆ ให้เลือกอีก ผู้เรียนยังยืนยันที่จะเลือกจุดยืนเดิมหรือไม่ เพราะอะไร
3.2 หากสถานการณ์แปรเปลี่ยนไปผู้เรียนยังจะยืนยันที่จะเลือกจุดยืนเดิมนี้หรือไม่ เพราะอะไร
3.3 ถ้าผู้เรียนต้องเผชิญกับสถานการณ์อื่นๆจะยังยืนยันจุดยืนนี้หรือไม่
3.4 ผู้เรียนมีเหตุผลอะไรที่ยึดมั่นกับจุดยืนนั้น จุดยืนนั้นเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นปัญหานั้นหรือไม่
3.5 เหตุผลที่ยึดมั่นกับจุดยืนนั้นเป็นเหตุผลที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่หรือไม่
3.6 ผู้เรียนมีข้อมูลเพียงพอที่จะสนับสนุนจุดยืนนั้นหรือไม่
3.7 ข้อมูลที่ผู้เรียนใช้เป็นพื้นฐานของจุดยืนนั้นถูกต้องหรือไม่
3.8 ถ้ายึดจุดยืนนี้แล้วผลที่เกิดขึ้นตามมาคืออะไร
3.9 เมื่อรู้ผลที่จะเกิดตามมาแล้ว ผู้เรียนยังยืนยันที่จะยึดถือจุดยืนนี้อีกหรือไม่
ขั้นที่ 4 ผู้เรียนทบทวนจุดยืนในค่านิยมของตนเอง
ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนพิจารณาปรับเปลี่ยน หรือยืนยันในค่านิยมที่ยึดถือ
ขั้นที่ 5 ผู้เรียนตรวจสอบและยืนยันจุดยืนใหม่/เก่าของตนอีกครั้งและผู้เรียนพยายามหาข้อเท็จจริงต่างๆ มาสนับสนุนค่านิยมของตนเพื่อยืนยันว่าสิ่งที่ตนยึดถืออยู่นั้นเป็นค่านิยมที่แท้จริงของตน
ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบ
ผู้เรียนจะเกิดความกระจ่างในความคิดของตนเองเกี่ยวกับค่านิยม และเกิดความเข้าใจในตนเอง รวมทั้งผู้สอนได้เรียนรู้และเข้าใจความคิดของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนมีการมองโลกในแง่มุมกว้างขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาความสามารถในการตัดสินใจของผู้เรียนด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น